จากที่กำลังเคี้ยวอาหารอยู่เพลิน ๆ อยู่ ๆ ก็เกิดเสียง ‘กร๊อบ’ ขึ้น รู้ตัวอีกทีก็เห็นว่า ‘ฟันแตก’ เสียแล้ว โดยเหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้น เราจึงควรมีความรู้ว่าเมื่อฟันแตกแล้วต้องแก้ยังไง เพื่อไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากมากกว่าที่ควรจะเป็น
ฟันแตกคืออะไร ?
ฟันแตกหมายถึงการที่โครงสร้างของฟันเกิดการแยกหรือลักษณะการแตกเป็นรอยเล็ก ๆ หรือรอยแตกที่สามารถเห็นได้ บางครั้งรอยแตกนี้อาจเล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และอาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บในทันที แต่ถ้าปล่อยให้รอยแตกนั้นขยายตัวไปเรื่อย ๆ ฟันอาจจะเสียหายจนถึงขั้นต้องถอนฟันหรือเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
อธิบายเพิ่มเติม ฟันของเรามีโครงสร้างหลายชั้น ตั้งแต่เนื้อฟัน (Dentin) ซึ่งเป็นชั้นกลาง และเคลือบฟัน (Enamel) ที่เป็นชั้นนอกสุด ดังนั้น การที่ฟันแตกร้าวหรือเสียหายอาจทำให้ชั้นต่าง ๆ ของฟันเปิดรับเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าถึงโพรงฟัน ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
สาเหตุที่ทำให้ฟันแตก
ฟันสามารถแตกได้จากหลายสาเหตุทั้งทางกายภาพและการเสื่อมสภาพของฟัน ซึ่งบางปัจจัยสามารถป้องกันได้ ทว่าบางปัจจัยก็มาจากการใช้งานฟันในชีวิตประจำวัน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ฟันแตก ได้แก่
- การกัดหรือเคี้ยวสิ่งของแข็ง เช่น น้ำแข็ง ลูกอมแข็ง หรือนอตและสิ่งของที่ไม่ควรเอามาเคี้ยว สิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของฟันได้
- การนอนกัดฟัน (Bruxism) เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับหรือในสถานการณ์ที่มีความเครียดสะสม การนอนกัดฟันสามารถสร้างแรงกดทับที่ทำให้ฟันอ่อนแอและแตกได้
- อุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม การกระแทก หรืออุบัติเหตุในการเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดการกระแทกแรง ๆ บริเวณฟัน
- การเสื่อมของโครงสร้างฟันตามอายุ เมื่อฟันของเรามีอายุที่มากขึ้น ฟันก็จะเสื่อมสภาพ ทำให้โครงสร้างของฟันอ่อนแอลงและแตกได้ง่ายขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่รวดเร็ว เช่น การกินของร้อนหรือเย็นทันที ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่รวดเร็วทำให้ฟันหดตัวและขยายตัวเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยแตกในฟันได้
- การรักษารากฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ฟันมีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงและแตกหักในที่สุด
อาการและสัญญาณของฟันแตก
แม้ว่าฟันแตกอาจไม่มีอาการเจ็บในทันที แต่ถ้าปล่อยผ่านเวลาไปก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการดังนี้
- ความเจ็บปวดขณะกัดหรือเคี้ยว โดยเฉพาะเวลาที่กัดหรือเคี้ยวอาหารที่แข็ง อาการเจ็บนี้อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือเฉพาะเวลาที่กัดอาหารในท่าทางบางอย่าง
- อาการเสียวฟัน เมื่อฟันแตก อาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันต่อความร้อน ความเย็น หรืออาหารหวาน ๆ
- อาการบวมรอบ ๆ ฟันที่แตก บางครั้งรอยแตกสามารถนำไปสู่การอักเสบหรือการติดเชื้อบริเวณเหงือกที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้เกิดอาการบวม

วิธีการรักษาฟันแตก
ฟันแตกรักษายังไง ? คำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัวเพียงหนึ่งเดียว แต่ทันตแพทย์จะเลือกแนวทางการรักษาฟันแตกที่เหมาะสมกับความรุนแรงของรอยแตกและสภาพของฟัน โดยทั่วไปวิธีการรักษาฟันแตกมีดังนี้
- การอุดฟัน สำหรับรอยแตกเล็ก ๆ การอุดฟันเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วในการปิดรอยแตก
- การครอบฟัน กรณีฟันแตกเป็นรอยที่ใหญ่ขึ้น การรักษาโดยใช้ครอบฟันจะช่วยป้องกันการลุกลามของรอยแตกและเสริมความแข็งแรงให้กับฟัน การครอบฟันมักจะทำจากวัสดุที่มีความทนทาน เช่น เซรามิกหรือพอร์ซเลน
- การรักษารากฟัน ในกรณีที่รอยฟันแตกลึกจนถึงโพรงฟัน จนเกิดอาการเสียวฟันหรือติดเชื้อ ก็อาจจำเป็นจะต้องรักษารากฟันเพื่อกำจัดการติดเชื้อ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของฟัน
- การถอนฟัน ถ้าฟันแตกมีความเสียหายมากเกินกว่าจะรักษาได้ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ถอนฟันซี่นั้นออก แล้วทำการใส่ฟันปลอมหรือติดตั้งรากเทียมแทน
เมื่อรู้ว่าตนเองฟันแตก ควรปฏิบัติตัวดังนี้ทันที ?
- ล้างปากด้วยน้ำอุ่น เพื่อขจัดเศษอาหารหรือสิ่งสกปรกที่อาจอยู่ในบริเวณฟันที่แตก
- หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวด้วยฟันที่แตก การใช้งานฟันที่แตกอาจทำให้รอยแตกขยายตัวและทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น
- ใช้ประคบเย็น หากรู้สึกปวดหรือบวม ให้ใช้ประคบเย็นบริเวณข้าง ๆ ฟันที่แตกเพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด
- นัดพบทันตแพทย์ทันที อย่ารอช้า ถ้ารู้ว่าฟันแตก ควรนัดพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะการละเลยปัญหาอาจทำให้ต้องรักษาด้วยวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น
เมื่อได้ทราบแล้วว่าถ้าฟันแตกต้องแก้ยังไง ดังนั้น ใครที่ประสบปัญหานี้อย่าละเลยและปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าเดิม และควรไปพบทันตแพทย์อย่างเร่งด่วน โดยขอแนะนำ คลินิกทันตกรรมสไมล์โฟกัส ที่มีบริการอุดฟันแตก รวมถึงรักษาปัญหาฟันและสุขภาพช่องปากครบวงจร ด้วยทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะประเมินสภาพฟันของคุณอย่างละเอียด และใช้วิธีการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
สนใจสามารถนัดเข้ามาปรึกษาปัญหากับทันตแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 093-949-9269 และ LINE OA @Smile Focus หรือช่องทางติดต่ออื่น ๆ ของคลินิกทำฟันสไมล์โฟกัส
แหล่งอ้างอิง
- Repairing a Chipped or Broken Tooth.สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 จาก https://www.webmd.com/oral-health/repairing-a-chipped-or-broken-tooth